หากให้เอ่ยชื่อผลไม้ไทย แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงมะม่วง มังคุด ทุเรียน กล้วย ผลไม้ไทยชื่อดังมีมีขายทั่วทุกภูมิภาคและเราคุ้นเคยกันดี แต่หากพูดถึง “ลูกยอ” ก็คงต้องใช้เวลานึกเสียหน่อยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร บางคนอาจเคยเห็นหน้าค่าตาแต่ไม่เคยลิ้มรสสักครั้ง วันนี้เราจะพามาเจาะลึกลูกยอ ผลไม้น่าตาแปลกแต่น่าสนใจสุดๆ กัน
การเดินทางของลูกยอ
ลูกยอเป็นผลไม้พื้นถิ่นแถบอินโดนีเซียถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย เชื่อกันว่าแพร่หลายไปทั่วเขตร้อนพร้อมกับการเดินเรือแคนนูของชาวโพลีนีเชียนในแถบทะเลแปซิฟิก ลูกยอมีชื่อภาษาอังกฤษน่ารักๆ ว่าโนนิ (Noni) หรืออินเดียนมัลเบอร์รี่ (Indian Mulberry) ทั้งยังเป็นพืชในตระกูลเดียวกับเครื่องดื่มยอดนิยมทั่วโลกอย่างกาแฟอีกด้วย ลูกยอผลไม่ใหญ่นัก กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาว 3-10 เซนติเมตร ผิวเป็นตุ่มนูนคล้ายน้อยหน่า ผลอ่อนมีสีเขียวสด เมื่อสุกจะมีสีเหลือง และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อสุกจัด
สารพัดตำรับอาหารคาวหวาน
ลูกยอนี้มองไปมองมาก็เหมือนมีตาวิเศษอยู่รอบตัว มีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ผลไม้เมืองร้อน นำมาทำอาหารได้หลากหลายทั้งของคาวของหวาน บ้างก็นำผลมาสับเป็นชิ้นบางทำเป็นตำลูกยอสด ส่วนใบยอนำไปทำห่อหมก แกงใบยอ หรือคั้นน้ำมาดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับสายเฮลตี้ แม่ครัวพ่อครัวหัวป่าก์ต้องไม่พลาดที่จะแสดงเสน่ห์ปลายจวักด้วยเมนูชวนชิมเหล่านี้
เมนูลูกยอยังปรากฏในตำรับอาหารชาววังของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เรื่อง “หนังสือกับข้าวสอนลูกหลานกับ ผลไม้ ของว่าง และขนม” ซึ่งถือเป็นตำราอาหารตำรับชาววังหนึ่งตำรับสำคัญที่มีความพิเศษคือการรับวัฒนธรรมอาหารจีนเข้ามาผสมด้วย ในสูตรการทำเมี่ยงเด็ก เมี่ยงชวนชิมของท่านผู้หญิงกลีบที่หาได้ยากในปัจจุบัน ใช้ลูกยอเป็นเครื่องปรุง ดังนี้
เครื่องปรุง กล้วยน้ำว้าดิบหรือลูกยอดิบ หัวหอม ถั่วลิสง ขิง มะนาว กุ้งแห้ง กะปิดำเผา เนื้อหมูต้ม
วิธีทำ กล้วยดิบหั่นทั้งเปลือกตามขวางลูกเป็นแว่นๆ หั่นเครื่องปรุงเป็นชิ้น ๆ วางบนกล้วยใส่กะปิและเกลือเม็ด ถ้าชอบเผ็ดใส่พริก หากไม่มีกล้วยใช้ลูกยอดิบฝานแทนก็ได้
ประโยชน์ตั้งแต่โคนรากจรดปลายกิ่ง
ผู้คนในแถบแปซิฟิกใช้สารพัดประโยชน์ของต้นยอมาตั้งแต่สมัยโบราณ รากและเปลือกใช้ทำยา แก่นยอบ้านย้อมผ้าได้เป็นสีเหลืองอมส้ม ลำต้นใช้เป็นฟืนและประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ ใบและผลใช้เป็นยาและอาหาร
ลูกยอมีสารพฤกษเคมี (phytochemicals) ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งวิตามินซี โพแทสเซียม และวิตามินเอในปริมาณสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยชะลอการแก่และต้านมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบสารโปรซีโรนิน (proxeronine) เมื่อผ่านกระบวนการย่อยแล้วจะได้เป็นสารซีโรนิน (xeronine) ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างของโปรตีนได้ ทำให้มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย เนื่องจากสารต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำย่อย (enzyme) โปรตีนบนผิวเซลล์ (receptor) หรือตัวแปรสัญญาณในเซลล์ (signal transducer) ล้วนเป็นสารประกอบประเภทโปรตีน โดยซีโรนินทำให้เกิดการพับตัวของโปรตีนเป็นรูปร่างที่เหมาะสม
แม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่การรับประทานลูกยอหรือน้ำลูกยอในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะลูกยอเป็นผลไม้ที่มีสารโพแทสเซียมสูง ผู้ที่เป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากตามปกติแล้ว โพแทสเซียมมีผลต่อการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อหัวใจ ในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม การขับโพแทสเซียมจะลดน้อยลง ถ้ามีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงมากเกินไปอาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นได้
ไม้มงคลดลให้ใจสุข
ยอไม่ได้ปรากฏเพียงบนโต๊ะอาหาร หากลองมองไปในบ้านเรือนไทยสมัยก่อน มักพบต้นยออยู่ในบริเวณริมรอบขอบรั้ว เพราะตามตำราพรหมชาติฉบับหลวงกล่าวไว้ให้ปลูกต้นยอไว้ทางทิศอาคเนย์หรือตะวันออกเฉียงใต้นับว่าเป็นเรื่องดี มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง มีเกียรติยศชื่อเสียง มีคนเคารพนบนอบ และป้องกันเสนียดจัญไรภยันตรายต่าง ๆ แก่ผู้อยู่อาศัย รวมทั้งชื่อยังมีความหมายเป็นมงคล คือพ้องกับคำว่า “ยอ” ซึ่งหมายถึงการสรรเสริญเยินยอ ยกย่องชื่นชมในคุณความดีนานัปการ หรืออาจ มองเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ว่านอกจากจะได้บ้านที่ร่มเย็นด้วยไม้ยืนต้นผลกินได้เติบใหญ่ดีแล้ว ยังเย็นใจด้วยมงคลนามอีกด้วย
นวลปรางค์ทรามวัยงามคล้ายลูกยอ
เชื่อหรือไม่ว่าลูกยอยังเคยปรากฏโฉมในบทชมนางในวรรณคดีอีกด้วย เป็นความพิเศษอย่างยิ่งเพราะผลไม้แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงในเชิงเปรียบเทียบกับความงามของหญิงสาวคนใดมาก่อน เพราะความงามของหญิงในวรรณคดีมักถูกกวีเปรียบด้วยขนบตามจินตภาพของดวงเดือนดวงดาวพราวแสง คิ้วโก่งดั่งคันศร ดวงตากลมโตเหมือนกวาง แต่นางประแดะจากวรรณคดีเรื่อง “ระเด่นลันได" มีลักษณะตามที่กวีบรรยายไว้คือ
สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา ทั้งสองแก้มกัลยาดั่งลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ ลำคอโตตันสั้นกลม
นางประแดะเป็นสาวร่างสูงโปร่ง งามคล้ายอูฐจากเมืองแขก ผิวคมเข้ม สองผิวแก้มเหมือนลูกยอ คิ้วโก่งเหมือนกงดีดฝ้าย จมูกงุ้มปลายคล้ายมีดพร้า หูกลวง ใบหน้าหักงอ และลำคออวบกลม เหตุที่เธอมีความงามพิเศษไปเช่นนี้เพราะกวีดังในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างพระมหามนตรี (ทรัพย์) นำเรื่องวิวาทของชู้รักที่โด่งดังในวงสังคมตอนนั้นมาแต่งล้อเลียนวรรณคดีไทยในขนบที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างเรื่อง “อิเหนา” เพียงแต่นางบุษบาในเวอร์ชั่นของเขาเป็นภรรยาของแขกเลี้ยงวัวนามว่าประดู่
พระมหามนตรี (ทรัพย์) เพิ่มอรรถรสความสนุกสนานด้วยการนำราชาศัพท์มาใช้ยั่วล้อบอกเล่าชีวิตสามัญชน ให้ฝ่ายหนึ่งมีตำแหน่งเป็นระเด่นลันไดคือองค์ชายลันได อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน มีสุนัขเป็นองครักษ์รักษาวัง ฝ่ายหนึ่งเป็นท้าวพระยานามว่าประดู่ มีมเหสีชื่อประแดะ อาศัยในปราสาทที่มีเล้าหมูอยู่กลาง ข้างกำแพงเป็นคอกวัว วันหนึ่งระเด่นลันไดสีซอขอพระกระยาหารมาเจอพระมเหสีประแดะ ทั้งสองราวกับถูกศรรักปักอกเข้าอย่างจัง ระเด่นลันไดไม่เกรงบาปทั้งอวดว่าตนเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายกับท่านยมบาล นัดแนะนางประแดะให้มาพลอดรักกันที่ปราสาทของตัวเอง
ฝ่ายท้าวประดู่เมื่อกลับมาถึงปราสาทพบว่าข้าวสารอาหารแห้งหายไปมาก ด้วยความโมโหหิวและเกิดพิษรักแรงหึง ไล่นางประแดะออกจากบ้าน ฝ่ายระเด่นลันไดรอแล้วรอเล่านางไม่มาตามสัญญา ตกค่ำจึงย่องเข้าห้องนางประแดะไปเจอท้าวประดู่แต่ผู้เดียวก็เผ่นแน่บออกมา ระเด่นลันไดมาเจอนางประแดะไร้ที่พึ่งจึงชวนมาอยู่ด้วยกันที่ปราสาท ครองคู่ตุนาหงันได้เพียงคืนเดียวก็เจอฤทธิ์หึงนางกระแอ แม่ค้าขายขนม แต่สุดท้ายระเด่นลันไดก็ใช้เสน่ห์มธุรสวาจาไม่แพ้อิเหนาต้นฉบับคืนดีกับนางจนได้ เรื่องวิวาทชิงรักหักสวาทเหล่านี้จึงเกิดเพราะความสวยของนางประแดะและแรงเสน่หาของชายหญิงนั่นเอง
ตอนนี้ทุกคนคงจะได้รู้จักหลากหลายแง่มุมของผลไม้เมืองร้อนหน้าตาแปลกแต่อุดมไปด้วยสารพัดประโยชน์อย่างลูกยอ แบบนี้คงต้องเสาะหาเมนูต่างๆ มาทานบ้าง หรือใครชอบปลูกต้นไม้ก็ลองดูต้นยอไว้เป็นตัวเลือกในการแต่งสวนสวยให้บ้านน่าอยู่ ได้ทั้งอาหารเฮลตี้ได้ทั้งที่พักผ่อนเย็นใจ ประโยชน์หลายต่อสุดๆ
อ้างอิง
Nelson,Scot C. “Morinda citrifolia (noni).”
ณัฐพล เลาหเจริญยศและณัฏฐากรรธ์ ลอยเลิศ. “โภชนาการในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง”
เภสัชกร คลังข้อมูลยา. “ตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยา"
พระมหามนตรี (ทรัพย์). “บทละครเรื่องระเด่นลันได"
Comments