“คงไว้ได้แค่กลิ่นที่ไม่เคยเลือนลา ยังหอมดังวันเก่ายามเมื่อลมโชยมา” - ปาล์มมี่, ซ่อนกลิ่น
กลิ่นดอกไม้อ่อนๆ กลิ่นหญ้า กลิ่นฝนตกใหม่ๆ กลิ่นหนังสือ แค่อ่านก็กระตุ้นประสาทรับกลิ่นให้นึกถึงความหอมตลบอบอวลฟุ้งขึ้นมาในใจ หลายคนมีกลิ่นที่ประทับใจและยากจะลืมเลือน วันนี้เราจะเดินทางไปสำรวจดูแง่มุมต่างๆ ของกลิ่นหอมที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ปลายจมูก แต่ยังซึมลึกไปถึงชั้นความทรงจำ
กลิ่น/ วิทยาศาสตร์/ ความทรงจำ
เชื่อหรือไม่ว่ากระแสประสาทของกลิ่นสามารถถ่ายทอดไปที่สมองได้เร็วกว่ากระแสประสาทชนิดอื่นๆ มีการเคลื่อนที่โดยตรงจากจมูกไปยังสมองบริเวณระบบลิมบิก (Limbic system) ซึ่งเป็นส่วนควบคุมเกี่ยวกับการจัดระเบียบพฤติกรรมอารมณ์ (Emotional behavior) ตลอดจนการเก็บความทรงจำ (Storing of memories) ดังนั้นเมื่อมนุษย์ได้กลิ่นที่ไม่คุ้นเคยจะจดจำกลิ่นนั้นๆ เข้าชั้นความทรงจำทันที หากได้กลิ่นเดิมอีกครั้งก็จะกระตุ้นการนึกถึงเรื่องราวในอดีตเหมือนกับการย้อนกลับไปเปิดหนังสือเล่มเก่าในลิ้นชักความทรงจำนั่นเอง
ผลการศึกษาที่น่าสนใจโดยนักจิตวิทยานามว่าทริก เอ็งเกน (Trygg Engen) พบว่าคนทั่วไปจำกลิ่นได้ถูกต้องมากถึง 65% แม้เวลาจะล่วงมาถึงหนึ่งปี ในทางตรงกันข้ามการหวนรำลึกถึงภาพที่เห็นจะลดลงไปราว 50% เมื่อเวลาผ่านไปเพียงสี่เดือนเท่านั้น
อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ จึงอยากชวนให้ลองย้อนนึกถึง “กลิ่นของคนที่รัก” หรือ “ภาพของคนที่รัก” การนึกถึงกลิ่นอาจจะง่ายกว่าการนึกถึงภาพคนคนหนึ่งเป็นไหนๆ
นอกจากนี้แมนดี อาฟเทล นักปรุงน้ำหอมชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวว่าจมูกเป็นศูนย์กลางที่มีลักษณะเฉพาะในการสัมผัสกลิ่นและการรับรู้ถึงตัวตนของเรา โดยเฉพาะในความปรารถนาเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์นั่นคือความปรารถนาอยากเสพอาหาร อีกทั้งมอบประสบการณ์ด้านผัสสะและจิตวิญญาณทั้งหลายที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนผลักดัน มอบความสุข และทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น รวมถึงยังกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำของผู้ที่ได้กลิ่น สิ่งเหล่านี้คือความสำคัญของประสาทรับกลิ่นที่มีต่อมนุษยชาติ
วิชาว่าด้วยน้ำหอมระดับเบื้องต้น
ในเมื่อเราทราบแล้วว่ากลิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความประทับใจและความทรงจำต่อบุคคลอื่น การประพรมร่างกายด้วยน้ำหอมกลิ่นจรุงใจจึงเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่โบราณ ทั้งเพื่อดับกลิ่นกายและเพิ่มเสน่ห์ให้ผู้พบเห็น กลิ่นของแต่ละบุคคลย่อมมีเอกลักษณ์ต่างไปตามอาหารและสิ่งแวดล้อม น้ำหอมจึงถูกปรุงมาอย่างหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับเคมีของผู้ที่กำลังสรรหากลิ่นหอมที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
น้ำหอมมีส่วนประกอบเป็นหัวน้ำหอมและแอลกอฮอล์ตามปริมาณความเข้มข้นของประเภทน้ำหอม แบ่งได้ 5 ประเภท ได้แก่
พาร์ฟูม (Parfum หรือ Perfume) ขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำหอมที่เข้มข้นและบริสุทธิ์ที่สุดใน 5 ประเภท มีหัวน้ำหอมมากถึง 20 ถึง 40 เปอร์เซนต์ กลิ่นติดทนนาน 8 ถึง 12 ชั่วโมง เนื่องจากมีความเข้มข้นมากที่สุดจึงมีราคาแพงที่สุด น้ำหอมประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวแพ้ง่าย เพราะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบน้อยที่สุด เมื่อฉีดลงบนผิวจึงไม่ทำให้ผิวแห้ง
โอ เดอ พาร์ฟูม (Eau de Parfum/ EDP) มีความเข้มข้นของหัวน้ำหอม 15 ถึง 20 เปอร์เซนต์ ติดทนนานตั้งแต่ 4 ถึง 5 ชั่วโมง มีราคารองลงมาจากพาร์ฟูมและเหมาะสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน
โอ เดอ ทอยเล็ต (Eau de Toilette/ EDT) มีความเข้มข้นของหัวน้ำหอม 5 ถึง 15 เปอร์เซนต์ ราคารองลงมาจากโอ เดอ พาร์ฟูมและเป็นที่นิยมเพราะราคาที่เอื้อมถึงง่าย ติดทนนานประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง มักนิยมใช้ในเวลากลางวัน ขณะที่โอ เดอ พาร์ฟูมซึ่งมีกลิ่นหนักกว่าจะนิยมใช้ในเวลากลางคืน
โอ เดอ โคโลญ (Eau de Cologne/ EDC) มีหัวน้ำหอมประมาณ 2 ถึง 4 เปอร์เซนต์ และมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก ราคาจึงถูกมาก ติดทนประมาณ 2 ชั่วโมง โอ เดอ โคโลญมักบรรจุมาในขวดขนาดใหญ่และมีปริมาณการใช้ต่อครั้งค่อนข้างเยอะเพื่อให้กลิ่นติดทนยิ่งขึ้น
โอ แฟรช (Eau Fraiche) คล้ายกับโอ เดอ โคโลญเพราะมีส่วนประกอบของหัวน้ำหอมน้อยที่สุด คือประมาณ 1 ถึง 3 เปอร์เซนต์ แต่สิ่งที่ต่างคือมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่มากนัก เพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก
การเลือกน้ำหอมชนิดต่างๆ จึงคำนึงถึงความคงทนที่ต้องการใช้ เมื่อฉีดลงบนผิว น้ำหอมจะทำปฏิกิริยากับความร้อนในร่างกายแล้วค่อยๆ ระเหยออก เผยให้ได้กลิ่นโน้ตน้ำหอมที่ซุกซ่อนรอจังหวะเวลาที่จะออกบรรเลงความเย้ายวน
ไล่ไต่ระดับความหอม
กลิ่นหรือโน้ตของน้ำหอมมักถูกปรุงมาให้มีกลิ่นต่างกันไปไล่เป็น 3 ระดับ นับตั้งแต่ยามที่กดสเปรย์ฉีดถึงระยะเวลาที่กลิ่นติดผิวกายหลายชั่วโมง เรียงกันเป็นปีรามิดจากยอดสู่ฐานล่าง
1. กลิ่นต้น (Top notes หรือ Head notes) เป็นกลิ่นที่จะได้กลิ่นทันทีเมื่อฉีด ระเหยได้ง่าย มักเป็นกลิ่นที่คมและดึงดูดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลอง 2. กลิ่นกลาง (Middle notes หรือ Heart notes) เป็นกลิ่นที่ปรากฏหลังจากกลิ่นต้นระเหยไปแล้ว เป็นกลิ่นที่นุ่มนวลและกลมกล่อมขึ้นกว่ากลิ่นต้น 3. กลิ่นท้าย (Base notes) เป็นกลิ่นที่ทิ้งต้องทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อให้กลิ่นต้นและกลิ่นกลางระเหยแล้ว กลิ่นท้ายเป็นกลิ่นติดทนนาน มักมีกลิ่นที่ล้ำลึก หนักแน่น
ครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2010 โรมาโน่ ริกกี้ (Romano Ricci) นักปรุงน้ำหอมชาวฝรั่งเศสและผู้ก่อตั้งแบรนด์ชื่อเก๋ Juliette Has a Gun แหวกขนบแห่งการสร้างสรรค์กลิ่นหอม ด้วยการเปิดตัวน้ำหอมที่ไม่ใช่น้ำหอม “Not a perfume” เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เพราะน้ำหอมขวดนี้มีส่วนผสมแค่ชนิดเดียวคือ Cetalox สารสังเคราะห์เลียนกลิ่นอำพันวาฬ (Ambergris) ที่มักใช้เป็นกลิ่นท้ายที่ติดทนนาน มานำเสนอความมินิมอล สง่างามและบริสุทธิ์ เพราะ Not a perfume จะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับผิว เกิดเป็นกลิ่นหอมเฉพาะตัวตามแต่คนที่ได้ใช้
หากใครแพ้แอลกอฮอล์แต่อยากลองประพรมน้ำหอมสร้างเสน่ห์ น้ำหอมที่เป็น oil-base หรือน้ำมันหอมก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ในประเทศไทยมีแบรนด์ Butterfly Thai Perfume แบรนด์คนไทยที่สร้างชื่อด้วยการนำพรรณพฤกษาและความเป็นไทยใส่ลงในสุคนธรส จนเกิดเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์น่าสนใจ ทั้งกฤษณากำยาน บุหรี่กุหลาบ บัวหลวง กลิ่นโคลนสาบควาย ล้วนชวนให้ลองแตะแต้มลงบนผิว
บุปผชาติ/ เครื่องเทศ/ แมกไม้/ ความสดชื่น
หากกล่าวถึงน้ำหอมแล้วจะขาดเรื่องประเภทของกลิ่นไปเสียไม่ได้ บางคนอาจมีกลุ่มกลิ่นหอมที่ชอบและรู้ว่าผิวของตัวเองเหมาะกับกลิ่นชนิดใด แต่สำหรับมือใหม่หัดเข้าวงการน้ำหอม เรามีวงล้อแห่งกลิ่นที่แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ตามแนวคิดของไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ (Michael Edwards’ Fragrance Wheel) มาให้เลือกสรร
กลุ่มกลิ่นบุปผชาติ (Floral notes) น้ำหอมกลิ่นดอกไม้เป็นกลิ่นที่พบได้ค่อนข้างมากในแบรนด์เครื่องหอมต่างๆ เช่น กลิ่นกุหลาบ มะลิ มีกลิ่นย่อยคือกลิ่นแนวผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล พีช แพร์ กลิ่นแนวดอกไม้ เช่น ลิลี่ ทิวลิป กลิ่นดอกไม้อ่อนๆ เช่น กลิ่นหอมหวานออกแป้ง กลิ่นดอกไม้ผสมเครื่องเทศ
กลุ่มกลิ่นเครื่องเทศ (Oriental notes) เป็นกลิ่นที่หนักและเย้ายวน ออกแนวเครื่องเทศ เช่น วานิลลา ซินนาม่อน มดยอบ พริกไทย
กลุ่มกลิ่นแมกไม้ (Woody notes) มักเป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกสุขุม อบอุ่น มั่นคง น้ำหอมผู้ชายส่วนใหญ่มักใช้โทนกลิ่นนี้ เช่น กลิ่นต้นสน ต้นซีดาร์ ไม้จันทร์หอม กลิ่นหนัง กลิ่นควัน
กลุ่มกลิ่นสดชื่น (Fresh notes) เมื่อดมแล้วจะรู้สึกได้ถึงความสะอาด สดชื่น เช่น กลิ่นซิตรัสหรือผลไม้จำพวกส้ม กลิ่นท้องทะเล กลิ่นหญ้าตัดใหม่
ลองค้นหาแนวกลิ่นที่ชอบแล้วเลือกทดสอบหากลิ่นที่ใช่ ในการลองน้ำหอมวิธีที่ดีที่สุดคือนอกจากจะชอบกลิ่นต้นที่หอมเตะจมูกแล้ว ยังต้องลองฉีดลงบนผิวที่สะอาด เช่น ข้อมือ ข้อพับแขน จากนั้นเดินเล่นสักรอบแล้วลองดมว่าเคมีของร่างกายเราสุดท้ายแล้วจะให้กลิ่นแบบไหน เพราะกลิ่นท้ายคือกลิ่นที่จะติดทนบนตัวเราไปตลอดวันนั่นเอง
กลิ่นแห่งไลฟ์สไตล์
การเลือกฉีดน้ำหอมนอกจากจะเลือกจากความติดทนและกลิ่นน้ำหอมที่ชอบแล้ว หากเลือกน้ำหอมให้เข้ากับกิจกรรมที่ทำย่อมเสริมเสน่ห์ให้เท่าทวี
หากคุณชอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ น้ำหอมกลิ่นสดชื่น กลิ่นซิตรัสหรือกลิ่นสปอร์ตเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีกลิ่นเบาสบาย ให้ความรู้สึกกระตือรือร้น อาจเลือกเป็นน้ำหอมโอ เดอ ทอยเลตที่มีการกระจายตัวบางเบากว่า เพราะกิจกรรมเหล่านี้มักส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงและกระจายกลิ่นน้ำหอมบนผิวกายได้ดี เมื่อผสมกับกลิ่นเหงื่อแล้วไม่ฉุนเกินไป รวมทั้งเหมาะกับอากาศร้อนๆ อีกด้วย
ส่วนคนที่ต้องทำงานในออฟฟิศ อาจเลือกเป็นน้ำหอมที่กลิ่นอ่อน เช่น กลิ่นแนวดอกไม้ กลิ่นหวานอ่อนๆ เหมาะสำหรับการทำงานในห้องแอร์ และไม่รบกวนเพื่อนร่วมงานคนอื่นมากเกินไป
ส่วนใครที่ต้องการมาดนักธุรกิจแนะนำว่าใช้กลิ่นแนวแมกไม้ให้ความรู้สึกสุขุม ทรงภูมิ หนักแน่น ช่วยเสริมบุคลิกได้อีกทางหนึ่ง
หากใครเป็นสายปาร์ตี้ยามราตรี แนะนำน้ำหอมแนวเครื่องเทศที่กลิ่นหนักติดทนนานและเย้ายวนชวนน่าค้นหา เกิดเป็นความประทับใจที่น่าจดจำไม่รู้ลืม
ห้องสมุดสุคนธรส
หากใครอยากหารีวิวน้ำหอม เราขอแนะนำเว็บไซต์ Fragrantica ที่มีผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมรีวิวและแสดงความคิดเห็นต่อน้ำหอมขวดนั้น มั่นใจได้ว่าทุกความคิดเห็นมาจากผู้ใช้จริงไม่ใช่การโฆษณา มีทั้งกลิ่นโน้ตของน้ำหอม ความติดทนนาน ฤดูและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อน้ำหอมได้ดี
เห็นได้ว่ากลิ่นหอมนอกจากจะช่วยเพิ่มเสน่ห์แล้วยังส่งเสริมบุคลิกและสร้างความประทับใจได้ไม่น้อย กลิ่นหอมย่อมสร้างความประทับใจและส่งผลต่ออารมณ์ทางบวกของผู้ที่ได้ใกล้ชิด บางครั้งกลิ่นก็ยังติดแนบแน่นอยู่ในความความทรงจำไม่เคยเลือนลางและจางหายไป
อ้างอิง
Engen, Trygg. Odor Sensation and Memory. Greenwood Publishing Group, 1991 .
Leanna Serras. Your Guide to the Fragrance Wheel and Scent Families
Note (perfumery)
อาฟเทล, แมนดี. โลกเร้นลับของกลิ่นหอม. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560.
コメント